
ความสุขของกะทิ (ปกแข็ง)
รหัสสินค้า : 51-0002
ผู้แต่ง งามพรรณ เวชชาชีวะ
รูปเล่มใหม่...ของขวัญแด่ผู้อ่าน เพื่อเก็บรักษาวรรณกรรมชิ้นเล็กๆ ที่ร้อยสายใจสู่ความสุขในวงกว้าง
จำนวน : 157 หน้า
ขนาดรูปเล่ม : 149 x 187 x 14 มม.
น้ำหนัก : 345 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : กระดาษอาร์ต
ชนิดปก : ปกแข็ง
ชนิดกระดาษ : สี่สีในเล่ม
เดือนปีที่พิมพ์ : 10 / 2008
สภาพ 80%
ราคาปกติ 235.00 บาท
ราคาขาย 150 บาท
ความรักกับความเข้มแข็งมั่นคงทางใจของเด็กๆ
ภาคย์ จินตนมัย
ทำไมกะทิจึงเลือกส่งจดหมายถึง “พี่ทอง” แทนที่จะส่งจดหมายฉบับที่แม่เขียนถึงพ่อไปให้พ่อ?
หรือว่ากะทิไม่อยากพบพ่อ?
คำถามข้างต้นดูจะเป็นคำถามทิ้งท้ายไว้ในเรื่อง ความสุขของกะทิ ซึ่งเขียนโดยนักแปลและนักเขียนหญิง งามพรรณ เวชชาชีวะ หนังสือเล่มเล็กๆที่สามารถสร้างความประทับใจได้มากเกินขนาดของหนังสือ
เรื่องราวของ “กะทิ” เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่อาศัยอยู่กับตายายที่บ้านริมคลอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยที่เธอก็มีความสุขตามสภาพและอัตภาพ แต่ท่ามกลางความสุขเหล่านั้น กะทิก็เป็นเด็กที่ไม่ได้มีครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมเหมือนเด็กคนอื่น เสียงเรียกร้องภายในที่ดังกระซิบแผ่วภายในใจอยู่ตลอดเวลาของกะทิก็คือเสียง เรียกร้องโหยหาความรักความอบอุ่นจากแม่ แม่ที่เธอแทบจะจำรายละเอียดอะไรไม่ได้เลยนอกจากเสียงเท่านั้น ชีวิตของกะทิดำเนินไปอย่างราบรื่นและราบเรียบ โดยมีตาและยายคอยให้ความรักความอบอุ่นจนกระทั่งวันหนึ่ง ยายถามกะทิว่า
...”กะทิ อยากไปหาแม่ไหมลูก” (หน้า 40)
หลัง จากนั้นเสียงกระซิบภายในใจของกะทิก็กลายเป็นจริงขึ้นมา กะทิได้ไปพบแม่ที่บ้านชายทะเล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่นั่นกะทิเด็กหญิงวัยเก้าขวบต้องรับรู้และเผชิญกับความจริงอันยิ่งใหญ่ของ ชีวิต ความจริงอันโหดร้ายเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะปล่อยให้เธอรับรู้ในวัยเด็ก นั่นก็คือการที่แม่ของกะทิป่วยหนักและเหลือเวลาในชีวิตอีกไม่นาน แม่ของกะทิป่วยเป็นโรคที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ ชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ เอแอลเอส
... โรค เอแอลเอสทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนใช้งานไม่ได้ในที่สุด นอกจากแขนขาแล้ว ที่อันตรายถึงชีวิตก็คือกล้ามเนื้อช่วยในการหายใจทำงานไม่ได้ อย่างเช่น กะบังลม กล้ามเนื้อหน้าอก ... (หน้า 63)
การ ได้มาพบและอยู่ด้วยกันกับแม่ในครั้งนี้ของกะทิก็คือการมาอยู่กับแม่ในช่วง ชีวิตระยะสุดท้ายของแม่ของกะทินั่นเอง และเป็นการทำให้เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งได้รู้จักกับอีกด้านหนึ่งของ ชีวิต ด้านที่โหดร้ายทารุณ และได้รู้จักกับสิ่งที่ไม่มีใครห้ามหรือเหนี่ยวรั้งเอาไว้ได้...ความตาย
แน่นอน... หากว่ากะทิไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักความทะนุถนอมเป็นอย่างดีจาก ตาและยาย ความเข้มแข็งมั่นคงทางจิตใจของกะทิคงมีไม่มากดังที่เราได้เห็นในเรื่องเป็น แน่ และการที่ผู้ใหญ่ทุกคนยินยอมให้กะทิได้พบแม่ ได้อยู่กับแม่ในวาระสุดท้ายของชีวิตของแม่ ก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกและเป็นการตัดสินใจที่ยอมรับสิทธิของเด็กอายุเก้า ขวบคนหนึ่ง สิทธิที่จะได้อยู่ในวาระสุดท้ายของบุพการีร่วมกัน
การ อยู่กับตาและยายของกะทิซึ่งต่างก็เป็นคนมีความรู้มีการศึกษาดีทั้งคู่ จึงเป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมทางจิตใจให้กับเด็กที่กำลังจะย่างเข้าสู่ วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่คนหนึ่งให้มีความมั่นคงเข้มแข็งทางจิตใจมากพอที่จะ เผชิญหน้ากับความจริงอันเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ทุกคนจะต้องพบเจอไม่วันใดก็ วันหนึ่ง และไม่ว่าจะรู้สึกว่ามันเป็นของธรรมดาโลก หรือเป็นสิ่งโหดร้ายทารุณสำหรับชีวิตก็ตาม นั่นก็คือ การพลัดพรากสูญเสีย
“การจากตาย” ยังไม่ใช่สิ่งเดียวเท่านั้นที่กะทิต้องพบเจอ หลังจากที่แม่ของกะทิเสียชีวิตไปแล้ว และความหลังต่างๆของแม่ค่อยๆถูกเปิดเผยออกมา พร้อมทั้งความเป็นมาเป็นไปของการกำเนิดกะทิด้วย ชีวิตและข้อมูลที่ถูกจัดการและจัดวางเอาไว้เป็นอย่างดีทำให้กะทิได้รับรู้ ความจริงว่าพ่อของกะทิเป็นใคร แล้วได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นลูกของพ่อและของแม่ ในฐานะที่เป็นเด็กซึ่งพอจะรู้เดียงสาคนหนึ่ง ให้ตัดสินใจอย่างผู้ใหญ่ในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง นั่นก็คือ ตอนท้ายเกือบจะที่สุดของเรื่องนี้ การที่แม่ได้เขียนจดหมายถึงพ่อไว้ให้กะทิตัดสินใจว่าจะส่งไปถึงพ่อหรือไม่ กะทิจึงต้องคิดใคร่ครวญและตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลยสำหรับเด็กคนหนึ่ง แล้วกะทิก็เลือกตัดสินใจอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด “การจากเป็น” กะทิเลือกตัดสินใจที่จะไม่ส่งจดหมายฉบับนั้นถึงพ่อ
อัน ที่จริง ไม่ว่ากะทิจะตัดสินใจอย่างไร ส่งหรือไม่ส่งจดหมายถึงพ่อ ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระเทือนต่อชีวิตกะทิทั้งสิ้น การเลือกไม่ส่งจดหมายอาจจะดูเหมือนว่าชีวิตแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป เพราะกะทิก็ได้กลับไปอยู่กับตายายที่บ้านริมคลองเหมือนเดิม ได้กลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเหมือนเดิม ได้อยู่กับพี่ทองและหลวงลุงเหมือนเดิม และกะทิก็จะไม่มีพ่อเหมือนเดิม แต่นั่นไม่เหมือนเดิมอย่างแท้จริงเลย หากแต่สิ่งที่กะทิเลือกตัดสินใจนั้น เป็นการตัดสินใจของเด็กที่เป็นผู้ใหญ่เกินวัย เด็กที่รู้จักพอกับความสุขในชีวิตที่ตนได้รับ รู้จักเพียงพอสำหรับความรักความเอ็นดูที่คนรอบข้างมีให้อย่างไม่มีเงื่อนไข และไม่มีวันหมดสิ้น เป็นการตัดสินใจในสิ่งที่กะทิคิดว่าตนเองไม่อาจจะกำหนดและคาดเดาอะไรได้ เพราะการได้พบพ่อของกะทิอาจจะทำให้เกิดคำถามและปัญหาอะไรตามมาให้คิดให้ตอบ และให้แก้ไขอีกไม่น้อยเช่นกัน
ความสุขของกะทิ เป็น เรื่องที่เขียนขึ้นในลักษณะเดียวกับที่แม่ของกะทิจัดวางทุกอย่างเตรียมไว้ ให้กะทิอย่างพร้อมเพรียงและเป็นระบบ ซึ่งเป็นความโชคดีในความโชคร้ายของกะทิ ที่เกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ และพร้อมที่จะเตรียมชีวิตของกะทิเอาไว้ล่วงหน้าได้อย่างที่เห็นในเรื่อง วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ก็เช่นกัน ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยการจัดการและจัดวางองค์ประกอบต่างๆของเรื่องอย่าง เป็นระบบระเบียบ เป็นการสร้างสรรค์ในลักษณะของการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ถูกที่ถูกทาง มีจังหวะและมีความสมดุลกันไปหมด ซึ่งเป็นความงามในอีกรูปแบบหนึ่งของผลงานทางศิลปะ
หาก เราไล่เรียงองค์ประกอบต่างๆที่เป็นโครงสร้างของวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ก็จะ พบว่าการแบ่งเรื่องออกเป็น 3 ส่วน คือ บ้านริมคลอง บ้านชายทะเล และบ้านกลางเมือง เป็นการจัดการในเรื่องของฉากหลัก หากเป็นละครนี่ก็คือละครที่มี 3 องก์นั่นเอง
ลำดับ จากนั้น ชื่อตอนในแต่ละส่วน ยังได้ถูกคัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดี ในส่วนแรก บ้านริมคลอง ชื่อตอนจะเป็นชื่อของเครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหมด เป็น “สิ่งไม่มีชีวิต” เช่นเดียวกับชื่อตอนในส่วนที่สาม บ้านกลางเมือง หากแต่ว่าเครื่องมือเครื่องใช้ในส่วนแรกเป็นสิ่งที่บ่งบอกหรือสะท้อนถึงวิถี ชีวิตแบบไทยดั้งเดิมหรือวิถีชาวบ้านชนบท เช่น ปิ่นโต กะละมังกับไม้หนีบผ้า เรืออีแปะ กระต่ายขูดมะพร้าว เป็นต้น ในขณะที่เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นชื่อตอนในส่วนที่สามนั้น เป็นเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับชีวิตในเมือง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ออกจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่สักหน่อย เช่น พวงกุญแจ กระเป๋าเดินทาง ดินสอสี ตู้ไปรษณีย์ เป็นต้น และในส่วนที่สองของเรื่อง มีชื่อตอนเป็นสิ่งมีชีวิตทั้งหมด เช่น (ต้น) หางนกยูง ปูลม ผักบุ้งทะเล แมงกะพรุน เป็นต้น ซึ่งความหมายแฝงของการใช้ชื่อเป็น “สิ่งมีชีวิต” ในส่วนที่สองของเรื่องนี้ก็คือ การแสดงถึงความสำคัญของชีวิต เพราะเป็นตอนที่กะทิได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับแม่ในช่วงชีวิตสุดท้ายของแม่ของ กะทิ
การเลือกใช้ประโยคสนทนาเพียงประโยคเดียวโปรยไว้บนหน้าเปิดเรื่องในแต่ละตอนของ
เรื่อง นี้โดยตลอดไปทุกตอน ก็เป็นการจัดวางที่ทำไว้อย่างมีความหมายเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนแรกของเรื่อง บ้านริมคลอง ที่กะทิอาศัยอยู่กับตาและยายในวิถีแบบชุมชนดั้งเดิมของไทย ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์มากเกิน ความจำเป็น การหุงข้าวยายยังใช้วิธีหุงแบบ “ดงข้าว” ซึ่งเป็นวิธีเก่าแก่ของไทย สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งในส่วนแรกของเรื่องนี้ก็คือไม่มีใครพูดถึงแม่ของ กะทิเลย เรื่องที่เล่าผ่านเสียงเล่าในเรื่องของผู้เขียนก็ไม่มีการบอกเล่าเรื่องราว ของแม่ของกะทิเลย ประโยคในเครื่องหมายคำพูดสั้นๆที่โปรยเอาไว้ในตอนต้นของแต่ละตอน จึงเสมือนเป็น “เสียงที่ดังออกมาจากใจ” ของกะทิที่แว่วออกมาถึงโลกกว้างเพื่อจะบอกว่าเธอคิดถึงแม่มากขนาดไหน แต่เธอก็มีความอดทนสูงมากที่ไม่เคยถามถึงแม่จากตาและยายเลย
เรื่อง ในส่วนแรกที่ถูกจัดวางไว้เช่นนี้ก็เพื่อจะบอกเป็นนัยๆว่าวิถีแห่งการดำเนิน ชีวิตที่จะทำให้เด็กๆได้มีความมั่นคงและเข้มแข็งทางจิตใจ ก็คือวิถีการเลี้ยงดูภายใต้การดำเนินชีวิตแบบพออยู่พอกินในลักษณะชาวบ้าน ชนบทไทยเดิมที่มีความเอื้ออาทรและเกื้อกูลกันด้วยความรักนั่นเอง
เมื่อ ถึงส่วนที่สอง กะทิได้พบแม่และได้ใช้วันเวลาที่เหลืออยู่ของแม่ร่วมกัน ก็เป็นตอนที่ไม่มีใครกล่าวถึงพ่อของกะทิอีก และจะด้วยโอกาสและสถานการณ์อันไม่อำนวยหรือด้วยเหตุอื่นใดก็ดี กะทิก็ไม่เคยถามถึงพ่ออีกเช่นกัน หากแต่ได้ใช้วันเวลาที่เหลืออยู่ของแม่นั้นอย่างคุ้มค่า ได้แสดงความรักและได้รับความรักจากแม่อย่างเต็มเปี่ยมเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะ สามารถทำได้
และ เมื่อมาถึงส่วนที่สามของเรื่อง เสียงในใจของกะทิก็เปลี่ยนไปเป็นเสียงของแม่แทน พร้อมกับความหลังที่แม่เล่าผ่านข้อมูลที่ถูกจัดวางเอาไว้อย่างเป็นระบบ ระเบียบเรียบร้อย ชีวิตของกะทิได้รับการวางแผนเอาไว้เสร็จสรรพจนถึงขณะนั้น ขณะที่จดหมายที่แม่ส่งถึงพ่อถูกส่งมอบถึงมือกะทิ และขณะนั้นเองที่จากเด็กอายุเก้าขวบอย่างกะทิต้องตัดสินใจอย่างผู้ใหญ่ด้วย ความคิด ด้วยเหตุผล และอารมณ์ความรู้สึกทีมีอยู่ทั้งหมด เพื่อที่จะตอบคำถามว่า “จะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต” แล้วกะทิก็ผ่านบททดสอบชีวิตอันแสนยากเย็นบทนี้อย่างราบรื่น ด้วยจิตใจอันเข้มแข็งมั่นคงและมีความสุข
“ความสุขของกะทิ” จึงเป็นความสุขที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อยลอยไร้ที่มาที่ไป หรือเกิดขึ้นจากความบังเอิญ มันไม่ได้เกิดจากพรสวรรค์หรือความเป็นอัจฉริยะของกะทิ หากแต่มันเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมและผู้คนรอบข้าง ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะสร้างภาพเปรียบขึ้นให้เห็นเมื่อกะทิกับพิ้งค์ได้ไป นั่งเล่นใช้เวลาที่มุมศิลปะในห้างสรรพสินค้า แสดงให้เห็นสภาพที่จิตใจของเด็กสองคนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งที่สภาพ ครอบครัวอาจไม่ต่างกัน คือไม่มีพ่อไม่มีแม่อยู่ครบด้วยกันทั้งคู่
... น่า จะเรียกว่าศิลเปรอะเสียมากกว่า มีรอยดำๆจากปลายดินสอสีป้ายเป็นปื้นใหญ่ๆเหมือนเจ้าตัววาดอะไรแล้วเปลี่ยนใจ ทาสีดำทับลงไปแทน น่าจะเป็นรูปผู้ชายสองคนตัวโตกับตัวเล็ก จูงมือกัน มีบ้านหลังเล็กๆไฟลุกท่วมอยู่ด้านหลัง หน้าตาคนวาดดูตั้งอกตั้งใจให้ออกมาเป็นแบบนั้น พิ้งค์คงเห็นสายตาของกะทิ จึงบุ้ยใบ้ทำนองอธิบายว่า “วาด รูปพ่อกับน้องพาย อยากรักกันดีนัก ทิ้งให้เราอยู่กับหม่าม้าสองคน แล้วตัวเองหนีไปอยู่บ้านอาม่ากับผู้หญิงคนใหม่ นี่...นี่...นี่... วาดให้น่าเกลียดน่ากลัวแบบนี้แหละ” ... (หน้า 102)
หาก จะบอกว่าสำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุลแล้วละก็ ภาพวาดของพิ้งค์ก็คงบอกสภาพจิตใจของพิ้งค์ได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นมันยังบอกไปไกลถึงสภาพจิตใจคนที่เลี้ยงดูพิ้งค์ด้วย
“ความสุขของกะทิ” เกิดจากความสุขของคนรอบข้างที่ส่งผ่านทอดถ่ายสะท้อนมาถึงกะทิ และทำให้กะทิรู้จักรักษาความสุขนั้นเอาไว้ อาจจะกล่าวได้ว่า การที่จะเลี้ยงเด็กให้มีความสุขได้นั้น ผู้ใหญ่ต้องมีความสุขเสียก่อน เพราะความสุขของผู้ใหญ่นั่นเองที่จะส่งทอดทางจิตใจไปถึงเด็กๆกลายเป็นความ สุขของเด็กในที่สุด
ความสุขที่แท้ก็คือความเข้มแข็งและมั่นคงในจิตใจที่เกิดจากความรู้จักพอนั่นเอง.