วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

รอยวสันต์


รหัสสินค้า : 51-0001
ผู้แต่ง ยุวดี ตันสกุลรุ่งเรือง
จำนวน : 312 หน้า
ขนาดรูปเล่ม : 130 x 185 x 15 มม.
น้ำหนัก : 255 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : กระดาษถนอมสายตา
ชนิดปก : ปกอ่อน
ชนิดกระดาษ : ขาวดำ
เดือนปีที่พิมพ์ : 6 / 2008
สภาพ : 78%
ราคาเต็ม : 160 บาท
ขาย : 100 บาท

เรื่องราวชีวิตของอาสำทั้งสี่ที่นำพาความรักและความปรารถนาดีจากดินแดนโพ้นทะเลมายังหลานสาวอันเป็นที่รัก
“รอยวสันต์” เป็นอีกหนึ่งผลงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ระดับคุณภาพ ที่ผ่านการค้นคว้ากลั่นกรองอย่างดีจากฝีมือของยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง นักเขียนสตรี ผู้คว้ารางวัลพระราชทาน ชมนาด บุ๊ก ไพร้ซ์ ประจำปีที่แล้วไปครองได้อย่าง สง่างาม เป็นเอกฉันท์
ภายในหนังสือเล่มนี้ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ เด็กหญิงจีนชาวกวางตุ้ง สี่คน คือ อาเข่ง อาเก๋ง สอง พี่น้อง และอาไกว กับ อาโหว เพื่อนสนิทรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดมีอันต้องอพยพลี้ภัยสงครามคอมมิวนิสต์และความยากจนแร้นแค้นจาก หมู่บ้านเล็กๆ นามว่า “ส่นตั๊ก” ทางตอนใต้ของจีน ลงเรือมุ่งสู่แผ่นดินสยาม
หลังจากอาเข่ง อาเก๋ง อาไกว และอาโหว เดินทางมาถึงแผ่นดินใหม่ เด็ก ทั้งสี่ได้พบกับอาถายหญิงชราจีนคราวป้า ซึ่งได้รับการฝากฝังจากพ่อแม่ของเด็กๆ ทางบ้านเกิดให้มาอาศัยอยู่ร่วมชายคาในกรุงเทพฯ และช่วยฝึกสอนงานบ้านให้แก่เด็กๆ เพื่อเตรียมตัวไปเป็นสาวรับใช้ตามบ้านผู้มีอันจะกินทั้งหลายแหล่
เมื่อ ถึงเวลาเหมาะสม อาถาย ผู้ยึดอาชีพนายหน้าหาแรงงานไปส่งตามบ้าน จึงได้พาเด็กสาวทั้งสี่ไปฝากงาน กับนายจ้าง โชคชะตาได้นำพาให้เข่งกับเก๋งสองพี่น้องไปทำงานที่โรงกลึงขนาดใหญ่แถวตลาด น้อย โดยเข่งนั้นถูกจับให้ทำงานเป็นลูกมืออยู่ในโรงครัว ช่วยเหล่าสะใภ้หลายคน โดยมีอาต่ายโสว หรือสะใภ้บ้านใหญ่ เป็นแม่ครัวหลัก คอยหุงข้าวปลาอาหารทั้งสามมื้อ ให้แก่ครอบครัว และคนงานในโรงกลึง ส่วน อาเก๋ง คนน้องนั้นคล่องแคล่วว่องไว มีหน้าที่คอยช่วยเหล่าสะใภ้เลี้ยงเด็กเล็กๆ และช่วยงานเบ็ดเตล็ดในโรงกลึง เมื่อ ทั้งสองคนเริ่มโตเป็นสาว อาเข่งก็ได้รับรู้ว่า เก๋ง น้องสาวของเธอกำลังชอบพออยู่กับ อาเส่ง เด็กหนุ่มโรงกลึง ซึ่งเข่ง พยายามคัดค้าน ด้วยความเป็นห่วงน้องสาว กลัวว่าจะเจอคนไม่ดีเข้า จนพี่น้องเกิดการผิดใจกัน แต่ก็ปรับความเข้าใจกันในที่สุด
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิด ความแตกแยกขึ้นระหว่างนายบ้านต่างๆ ถึงขั้นแยกโรงงานและแยกบ้าน อาเส่งที่เก็บเงินได้พอประมาณ จึงขอลาออกไปทำกิจการเป็นของตัวเอง และได้แต่งงานกับเก๋ง ถึงแม้จะพยายามเข้าใจในตัวน้องสาว แต่อาเข่งก็ยังมีอคติกับอาเส่ง และไม่ค่อยเห็นชอบเท่าใดนักที่ ทั้งสองแต่งงานกัน
ปี พ.ศ. 2500 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นในชีวิตของเข่ง เมื่ออาถายได้พาเธอไปทำงานในที่แห่งใหม่ ในฐานะแม่ครัว บ้านเศรษฐีจีนแซ่ฉั่น ย่านสาทร แม้ว่าเข่งจะมีประสบการณ์คอยเป็นลูกมือในครัวมานาน แต่เธอก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำอาหารเสียทีเดียว อา เข่งได้รับการสอนงานครัวจากอาสำ หรือหญิงรับใช้ คนเก่า และด้วยความมุมานะบากบั่น รวมถึงความใฝ่รู้ของเธอ จึงทำให้อาเข่งก้าวผ่านความเคลือบแคลงสงสัย และกังขาในฝีมือการทำอาหารของอาสำคนใหม่นี้ไปได้ในที่สุด
อา เข่งยังมีความขัดแย้งขัดใจกับอาเก๋งและน้องเขย อยู่เนืองๆ แต่ก็เพราะความรักความหวังดีในฐานะผู้เป็นพี่สาวร่วมสายเลือดนั่นเอง จึงทำให้คนที่มีความคิด ยึดมั่น คติเดิมๆ เช่นเธอปรับเปลี่ยนท่าทีอ่อนลง
ณ บ้านใหญ่ ที่สาทร อาเข่งต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของอาสำอย่างเต็มตัว เธอดูแลงานบ้านและจัดหาอาหารให้แก่เจ้านาย ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง บ่อยครั้งที่เธอต้องไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาดเยาวราช จึงทำให้เธอได้รู้จักมักคุ้นกับ หนุ่มร้านชำ กวางตุ้ง ชื่ออาหยิบ ซึ่งรอบรู้ในเรื่องของวัตถุดิบการทำอาหารเป็นยิ่งนัก และสามารถชี้แนะเธอเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน ได้เป็นอย่างดี อาหยิบปฏิบัติต่อเธอเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการช่วยหอบหิ้วตะกร้าจ่ายกับข้าวไปส่งถึงรถสามล้อถีบ และเก็บวัตถุดิบประกอบอาหารดีๆ ไว้ให้เธอ
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้อาเข่งเฉลียวใจ หรือฉุกคิดว่า นั่นคือท่าทีชอบพอที่อาหยิบสื่อสารมาให้แก่เธอ จนวันหนึ่งอาหยิบได้บอกเล่าถึงความตั้งใจของตนที่จะมีกิจการร้านชำเป็นของตนเอง และได้เอ่ยปากว่า
“เธออยากจะออกมาช่วยฉันขายของไหม”
คำ พูดนี้ติดอยู่ในห้วงคำนึงของอาเข่ง ให้คิดทบทวนอยู่หลายรอบ แม้อาเข่งจะพึงใจในอาหยิบอยู่บ้าง แต่ด้วยภาระหน้าที่ และ สถานภาพที่ยังไม่มั่นคงของอาหยิบ จึงทำให้เธอไม่อาจตอบตกลงได้ ประจวบกับที่เข่งต้องย้ายงานใหม่ ไปที่บ้านเศรษฐีแถวบางกะปิแซ่กวาน จึงทำให้เธอห่างหายกับอาหยิบไป และไม่นานหลังจากนั้น เธอก็ได้ทราบข่าวจากปากของอาหยิบว่า เขากำลังจะแต่งงาน
ที่ บ้านของนายแซ่กวาน อาเข่งในวัยชราได้รับความเคารพนับถือจากเจ้าของบ้าน และเมื่อคุณหนูทั้งสี่คนโตขึ้น คุณนายจึงจัดแจงหาเด็กรับใช้สองคนมาช่วยงานอาเข่ง แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่เข่งเคยคุ้นเคย ยึดถือและปฏิบัตินั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย รวมถึง ‘ฝีมือการทำอาหารกวางตุ้งเลิศรส’ ที่ เคยเป็นความภาคภูมิใจของหญิงชรา ก็ดูจะหมดมนต์ขลัง พื้นที่ในครัว ที่เคยครึกครื้นวุ่นวาย ก็เงียบเหงา เพราะการมาเยือนของ เทคโนโลยี และค่านิยมใหม่ๆ
เมื่อ อาเก๋งรู้ว่า พี่สาวของเธอได้ลาออกจากบ้านของนายแซ่กวานแล้ว อาเก๋งและสามีที่ประกอบธุรกิจโรงกลึงจนร่ำรวย จึงมารับพี่สาวไปอยู่ด้วย เข่งใช้ชีวิตในบั้นปลายอาศัยพักพิงกับครอบครัวของอาเก๋ง และคอยช่วยน้องสาวดูแล ลูกหลานของเธอจนเติบใหญ่
สำหรับ อาไกวเด็กสาวผู้มีหน้าตาสะสวยกว่าเพื่อน อาถายได้นำเธอไปทำงานที่บ้านนายชาวญี่ปุ่น ชื่อยามาดะ โดยมีคนสอนงานเป็นหญิงชาวจีนชื่อ อาจั๊น อาไกว ประทับใจในตัวนายชาวญี่ปุ่นที่มีกิริยาท่าทีสงบเสงี่ยม สุภาพอ่อนโยน อยู่เงียบๆ นอกจากจะเรียนรู้งานบ้านกับอาจั๊นแล้วหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของอาไกวคือ คอยตื่นขึ้นมาเตรียมอาหารเช้าและเปิดประตูให้นายเมื่อเขาออกไปทำงาน และอยู่คอยรับตัวนายญี่ปุ่นจากสามล้อถีบเข้าบ้าน เมื่อเขาเมากลับมายามดึก
หลังจากนั้นไม่นาน อาจั๊นก็ออกจากบ้านไป และปล่อยให้สาวรับใช้อยู่กับนายเพียงสองคน อาไกวทำงานอย่างขยันขันแข็ง สะอาดเรียบร้อย จนได้รับคำชมจากนายยามาดะและของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ เป็นการตอบแทนน้ำใจ
วัน เวลาล่วงไป นายจ้างและสาวรับใช้ต่างประทับจิตประทับใจซึ่งกันและกันอยู่ลึกๆ ความผูกพันแบบต่างฐานะ ก่อเกิดขึ้นราวดอกไม้ที่กำลังแย้มกลีบบาน
ทว่าหลังประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม พิษสงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้นายยามาดะต้องลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น ก่อน จากไปเขาได้มอบหีบปริศนาใบหนึ่งให้แก่อาไกว ซึ่งเก็บซ่อนสิ่งสำคัญเอาไว้ เหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สร้างความสะเทือนใจให้แก่อาไกว และตราตรึงอยู่ในก้นบึ้งหัวใจของหญิงสาวมิรู้เลือน
เมื่อ นายญี่ปุ่นออกจากบ้านไปแล้วอาไกวจึงตัดสินใจไปขอพึ่งพิงอาถายหญิงนายหน้าชรา ผู้เปล่าเปลี่ยวที่บ้านซอยหลังวัดยวน อาถายมีอุปนิสัยตระหนี่ถี่เหนียว และติดการพนัน นางพยายามเก็บหอมรอมริบเงินที่ได้จากค่านายหน้า และรับจ้างทั่วไป เพื่อหวังจะกลับไปบ้านเกิดเมืองนอน
อยู่ ที่นี่อาไกวต้องทำงานสารพัด อีกทั้งอาถายยังไม่ให้ค่าแรง และเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย อาถายจึงให้หญิงสาวไปช่วยงานที่ศาลเจ้า เพื่อจะได้อาศัยกินข้าวที่นั่น ซึ่งทำให้อาไกวได้รู้จักกับอาสำคนหนึ่งที่กำลังจะกลับเมืองจีน จึงขอติดตามไปด้วย แต่ทว่าในตอนนั้นประเทศจีนได้กลายเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว จึงทำให้เธอกลับส่นตั๊กไม่ได้ อา ไกวจึงต้องย้ายไปอาศัยกับน้องสาวที่ฮ่องกงอยู่นานหลายปีแล้วจึงตามน้องชายไป เปิดร้านซักรีด ที่ แวนคูเวอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในที่สุด
ส่วนอาโหวนั้นได้ไปเป็นเด็กรับใช้ที่คลินิกของคุณหมอจ้ง จักษุแพทย์ แถวถนนสี่พระยา ที่ นี่โหวต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อลุกขึ้นมาทำความสะอาดคลินิกของคุณหมอ ผจญกับคำพร่ำบ่น ความจู้จี้จุกจิก ละเอียดลออ ของคุณนายจ้ง และงานบ้านอันแสนวุ่นวาย อาโหวรับรู้ว่า คุณหมอจ้ง และ ภรรยามักมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากคุณหมอจ้งมีนักร้องสาวสวยชื่อ เซี่ย มาติดพัน จนเรื่องราวบานปลายกลายเป็นโศกนาฏกรรม ในที่สุด
หลังจากนั้นอาโหวได้ย้ายงานไปทำงานอยู่ที่ร้านขายกุนเชียง และได้พบรักกับอาฟกเจ้าของร้าน แต่ เพียงไม่นาน สามีของเธอก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง อาโหวต้องตกพุ่มม่ายลูกสองเธอขายกิจการต่อให้ลูกน้องอาฟก ได้เงินมาก้อนหนึ่งไปเซ้งห้องแถวตรอกจันทร์ไว้ให้เช่า และย้ายไปทำงานบ้านให้นายแซ่ห่อ ที่บางกะปิ แต่ด้วย ความอึดอัดใจหลายอย่างจึงทำให้โหวหันเหชีวิตของตนครั้งใหญ่ ด้วยการเดินทางไปเป็นแม่บ้านที่สิงคโปร์ และฝากลูกๆ ทั้งสองไว้กับอาส่น คนเก็บค่าเช่า โดยอาโหวจะแวะเวียนมาเยี่ยมลูกเพียงปีละ ครั้ง สองครั้ง เท่านั้น
วัน หนึ่งอาเข่งไปเยี่ยมลูกๆ ของอาโหว และพบว่าแท้จริงแล้วอาส่นเป็นคนร้ายกาจ เลี้ยงดูเด็กๆ อย่างทารุณ แล้วยังโกงค่าเช่าบ้าน นางจึงรับเด็กๆ ออกมา และแจ้งให้อาโหวทราบ อาโหวเสียใจมากกับเรื่องที่เกิดขึ้น จึงกลับมารับเด็กๆ ไปอยู่ด้วยที่สิงคโปร์ และทำงานอยู่ที่นั่นจนวัยเกษียณ
เรื่องราว ความทรงจำของอาสำทั้งสี่ เมื่อ 70 กว่าปีก่อนได้รับการถ่ายทอดสู่หลานสาวโสด วัย 30 ปีของอาเก๋ง ชื่ออาหมุ่ยหมุย ซึ่งเธอกำลังอยู่ในช่วงรอเวลาไปทำงานด้านคอมพิวเตอร์ที่ประเทศออสเตรเลีย ผ่านการบอกเล่าของ อาเข่ง อาเก๋ง อาไกว อาโหว ในวัย 80 ที่ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง และได้รับรู้ถึง ความยากลำบากของสาวจีนอพยพในกรุงเทพฯ ผู้เข้ามาทำงานเป็นสาวใช้ที่เรียกกันว่า “อาสำ” รวมไปถึง มิตรภาพ ความรัก ความผูกพัน ของเหล่าคุณย่าทั้งสี่คน
ความหลัง ของอาสำทั้ง 4 คนที่ถูกถ่ายทอดในช่วง 1 เดือนของการรวมตัวกัน มีผลให้หลานสาวโสดครุ่นคำนึงถึงอีกด้านหนึ่งของชีวิตผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน และ ด้วยความชาญฉลาดของอาสำทั้ง 4 ได้ตะล่อมจนหลานสาวตกลงใจแต่งงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยนามว่าวัฒนชัย หนุ่มใหญ่วัยไล่เลี่ยกัน ผู้ชายที่พวกอาสำเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ได้เป็นผลสำเร็จ
ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง สามารถร้อยเรียงภาษา และถ่ายทอดเรื่องราวของ “รอยวสันต์” ได้ อย่างละเมียดละไมละเอียดลออ ภายใต้การดำเนินเรื่องเรียบเรื่อย ตามแบบของนวนิยายแนวชีวิต ที่ค่อยๆ พาเราย้อนรอยไปสู่เรื่องราวแต่หนหลังของ ผู้หญิงจีนอพยพจากดินแดนจีนโพ้นทะเล สี่คน ซึ่งเดินทางรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเล มาสู่เมืองไทย เมื่อกว่า 70 ปีก่อน ช่วงสมัยปลายยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
สิ่ง ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือความแปลก แตกต่างของเนื้อหาที่ผู้เขียนเลือกที่จะหยิบยกกล่าวถึงเรื่องราวของผู้หญิง จีนกวางตุ้ง ที่มาทำงานเป็นอาสำ หรือสาวรับใช้อยู่ภายในบ้านของเศรษฐีทั้งหลายในยุคก่อน ผ่านความยากลำบาก ประสบการณ์ชีวิตสารพัน มาถ่ายทอด ซึ่งนับเป็น
เสน่ห์ อย่างหนึ่งที่ ทำให้เรารู้สึกว่า น่าค้นหา และติดตาม เนื่องจากเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของผู้หญิงจีน หรือรวมไปถึง อาสำเหล่านี้ เป็นเรื่องที่น้อยคนนักจะได้รับรู้ และน้อยคนนักที่จะจรดปากกาเขียนถึงในสังคมไทย
อีก ทั้งลักษณะการใช้วรรณศิลป์ของผู้เขียนที่ค่อนข้างต่างจากนวนิยายทั่วไป โดยการเขียนจากวลีจีนตรงๆ และสอดแทรกผสมผสานคำอธิบายไว้ในประโยคสนทนา หรือบทบรรยาย ได้อย่างลื่นไหลก็ทำให้ผู้อ่านนอกจากจะได้เรียนรู้ภาษาจีน และความหมายในตัววลี หรือสำนวนนั้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอรรถรส ความสมจริงสมจังน่าเชื่อถือ ให้แก่หนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี ดังเช่น
“กับข้าวเช้าหนักไปทางของหมักดอง เช่น ผักดองหวาน หัวผักดองเค็ม มะกอกดองเกลือ ปลาเค็มนึ่ง และผักผัดน้ำมันหมู แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือ เหย่าจาไกว๋ที่เป็นขนมแป้งทอดเป็นคู่ ภายหลังเข่งค่อยเรียนรู้ว่าคนไทยเรียกขนมนี้ว่า ปาท่องโก๋ ” (หน้า : 101)
จาก ตัวอย่างข้างต้น เป็นการยกตัวอย่างการร้อยเรียงอธิบายคำศัพท์ภาษาจีนไว้ในบทบรรยายของผู้ เขียน ในตอนที่อาเข่งกับอาเก๋งสองพี่น้องได้มาใช้ชีวิตอยู่ในโรงกลึง หรือจะเป็นตอนที่ผู้เขียนได้ผสมผสานคำอธิบายของคำว่า ‘โพยก๊วน’ ในภาษาจีน ก็สามารถเขียนได้ละเอียดเข้าใจง่าย ดังเช่น
“เลย ไปทางซ้ายมือเป็นร้านบริการส่งเงินซึ่งคนกวางตุ้งเรียกกันชินปากว่า หมั่นกก ซึ่งล้วนตกอยู่ในมือพ่อค้ากวางตุ้งเซยับ ทว่าหลังสงครามหลายปีมานี้ กิจการหมั่นกกค่อยๆ เปลี่ยนไปอยู่ในมือของคนจีนแต้จิ๋วมากขึ้น จนแม้คำเรียกขานก็เพี้ยนไปเกิดเป็นคำว่า ‘โพยก๊วน’ ขึ้นมาแทน ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำว่า ‘โพย’ ของแต้จิ๋ว และคำว่า ‘ก๊วน’ ของเซยับ อาถายไม่เคยนึกเลยว่าในที่สุด กิจการจำนวนมากของพวกกวางตุ้งจะเปลี่ยนมือไปอยู่กับแต้จิ๋ว” (หน้า : 160-161)
สิ่ง สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือแง่คิดแง่งาม สาระ รวมถึงความสะเทือนอารมณ์ที่อบอวลโอบอุ้มเนื้อหานวนิยายเล่มนี้ให้ทรงคุณค่า ลึกซึ้ง โดยมิได้ยัดเยียด แต่เป็นการเล่าเรื่องโดยให้ผู้อ่านซึมซับ รู้จักตัวละครผ่านตัวอักษร เหตุการณ์ และกาลเวลา ที่สานโยงเชื่อมถึงกันและกัน ได้อย่างละเอียดอ่อน ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้หลายๆ ฉาก ในหนังสือมีพลังสร้างความสะเทือนใจ ให้แก่ผู้อ่านได้อย่างไม่ยากเย็น โดยไม่ต้องออกแรงเค้น แต่ในความสะเทือนใจนั้นหาใช่ อารมณ์ความเศร้า หมองหม่น เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีความซาบซึ้ง อบอุ่น จากความรักอันหลากหลาย ระหว่าง หนุ่มสาว พี่น้องร่วมสายเลือด รวมไปถึงความห่วงหาอาทร และปรารถนาดี ของเหล่าคุณย่า ทั้งสี่ ที่มีต่อหลานสาว อีกด้วย
นอกจาก ผู้อ่านจะได้เพลิดเพลิน และซาบซึ้งไปกับเรื่องราวความผูกพันของตัวละครแล้ว สิ่งที่สะท้อนให้เราได้เห็นและ ขบคิด ภายในหนังสือเล่มนี้ก็คือ ค่านิยม ปรัชญา แนวความคิด ประเพณี และ วิถีชีวิต ของชาวจีนโพ้นทะเลสมัยก่อน ที่เรียกได้ว่า หอบเสื่อผืนหมอนใบ เข้ามาตั้งรกรากในไทย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสำนึกกตัญญู ต่อบ้านเกิดเมืองนอน อาชีพ และ แหล่งทำมาหากิน รวมไปถึงเรื่องราวของการปรุงรสอาหาร ที่ ดูเหมือนว่าจะเป็นจุดเด่น ที่แสดงถึงความเป็นชาวกวางตุ้ง ได้อย่างชัดเจน และเป็นสิ่งที่ผู้เขียนภูมิใจที่จะนำเสนอ และสามารถบรรยาย อธิบายได้ละเอียด อ่านแล้วจินตภาพถึง รูป รส กลิ่น เสียง เฉกเช่นความพิถีพิถันในการปรุงอาหาร ที่ไม่ใช่ แค่ทำไปให้เสร็จๆ แต่คนปรุงนั้น จะต้องมีความใส่ใจ มุมานะ ผ่านการลองผิดลองถูก จนได้ที่ เมื่อมั่นใจในฝีมือแล้วจึงค่อยยกเสริฟ์ให้แก่ผู้รับประทาน
เรื่องราวความลึกซึ้งละเอียดอ่อน หรือความเป็น ‘ภายในของผู้หญิง’ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ ยุวดี ต้น สกุลรุ่งเรืองสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม นิ่มนวล ผ่านบทสนทนา และความนึกคิดของตัวละคร ทั้งในเรื่องของ ค่านิยม จารีต ประเพณี ที่ตีกรอบให้ผู้หญิง มีความคิด และได้รับการปฏิบัติ ที่แตกต่างไปจากผู้ชาย รวมไปถึงการกล่าวถึง ‘อาณาเขตใต้เตียง’ ที่เป็นดังแดนลึกลับ สำหรับผู้หญิง ที่ผู้ชายไม่อาจเข้าถึง ดังเช่น
เก๋งเย็นสันหลังวาบขณะที่ย่าดึงเอาน้องชายสองคนไปกอดไว้ พร้อมกับสั่งสอนห้ามปรามไม่ให้เข้าไปเล่นใต้เตียงอีก
“เป็น ผู้ชายอย่าเข้าไปใต้เตียงรู้ไหม ต่อไปจะเรียนหนังสือไม่เก่ง ทำการค้าไม่เจริญ ปลูกผักเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ ผู้ชายต้องออกไปเล่นกลางแจ้ง”
แต่ทีลูกสาวแม่มักใช้ให้ไปหยิบของใต้เตียงเสมอทั้งๆ ที่กลัวแทบแย่
อีก ทั้ง เรื่องความรัก และการแต่งงาน สร้างครอบครัว ก็เป็นแนวคิดหลัก ซึ่งผู้เขียนสามารถนำเสนอแนวคิดเรื่องนี้ผ่านบทสนทนาของตัวละคร ได้อย่างคมคาย ดังเช่น
“สวยแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ คนจีนเขาว่าความสวยต้องการคนชื่นชม”
“นี่แน่ะ อาหมุ่ย หมุย อย่าหาว่าฉันปากไม่ดีเลยนะ” ย่าสองพูดดังเพราะหูไม่ดี “คนจีนเราว่าหญิงสาวแต่งงานเพื่อพ่อแม่ หญิง ม้ายแต่งงานเพื่อตัวเอง พ่อแม่อยากให้ลูกแต่งงานเพราะจะได้สบายใจหมดห่วงว่าเห็นลูกเป็นฝั่งเป็นฝา แล้ว เข้าใจไหม ต่อไปเกิดไม่มีพ่อแม่ แล้ว เธอพบคนที่อยากแต่งงานด้วยจะเสียใจว่าไม่ได้แต่งให้พ่อแม่เห็น” (หน้า : 154-155)
“ฉันเข้าใจ ไม่อยากจะพูดหรอกนะ แต่ยังอยากแนะนำว่าเธอน่าจะแต่งงานไปเสียกับอาจารย์คนนั้นก่อนที่....” ย่าเล็กหัวเราะขึ้นมาแล้วค่อยพูดต่อว่า “ก่อนที่จะไม่มีใครเอา”
ฉันยิ้มแหย
“หนูแก่ขนาดนั้นเลยหรือคะ”
“ไม่หรอก แต่ชีวิตก็เหมือนฤดูกาล ในหนึ่งปีย่อมมีช่วงที่ดีที่สุดของมัน ฤดูใบไม้ผลิของชีวิตหากผ่านไปแล้วก็ออกจะน่าเสียดาย” (หน้า : 281)
จาก ตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า ผู้เขียนสามารถใช้บทสนทนาของตัวละคร นำเสนอประเด็นให้ ผู้หญิงสมัยใหม่ ได้ตระหนักและขบคิด ถึงการใช้ชีวิต และเห็นถึงความสำคัญของการสร้างครอบครัว ได้เป็นอย่างดี
แม้ เนื้อหาในนวนิยายเรื่องนี้จะดูเรียบเรื่อย และเต็มไปด้วยศัพท์แสงภาษาจีนมากมาย ไม่มีพระเอก นางเอก เป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก หรือฉาก ไคล์แม็ก ให้ลุ้นระทึกตื่นเต้น ตามแนวนิยมของรูปแบบนวนิยายทั่วไป แต่ ผู้เขียนก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของอาสำทั้งสี่ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีความซับซ้อน ตื้นลึกในตัวละคร อีกทั้งยังมีการเปิดและปิดบท ได้น่าติดตาม และสร้างปริศนาชักชวนให้ผู้อ่าน สมัครใจใคร่รู้เรื่องราว ตลอดต้นจนจบ ยุวดีใช้ภาษาที่สละสลวย ผ่านการศึกษาค้นคว้ามาอย่างถี่ถ้วน นำพา ให้ผู้อ่านไปสัมผัสถึงตัวตนภายในของสตรีเพศทั้งในด้านความเข้มแข็งและความ อ่อนโยน รอยยิ้มและความเศร้าหม่น จวบจนบทสรุปสุดท้ายที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึก เต็ม และอิ่มเอม
‘รอยวสันต์’ จึงนับเป็นหนังสือชื่อชั้นรางวัลอีกเล่มหนึ่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสาระ ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลักดันตัวเองออกไปโลดแล่นสู่ระดับสากล

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ยังมีหนังสือรอยวสันต์มือสองขายไหมค่ะ อยากได้มาอ่านจริงๆค่ะ ถ้ายังไงรบกวนติดต่อกลับด้วยนะค่ะ

Unknown กล่าวว่า...

อยากทราบ ปมปัญหา จุดclimac เเละคลายปมอะค่ะพอจะทราบไหมคะ